01 สิงหาคม 2563 ผู้เผยแพร่ : นฤทัย นภาสกุลคู
สาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) ออกบูธแสดงนวัตกรรมการบริการวิชาการและขายอาหารในงาน “สานศิลป์ถิ่นมนุษย์ ครั้งที่ 10 : สานศิลป์ สานศาสตร์ สานการเรียนรู้สู่ท้องถิ่น” ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2563 ณ ลานเอนกประสงค์ อาคารครุศาสตร์และมนุษยศาสตร์ฯ (อาคาร 52)
อาจารย์ตุลาภรณ์ แสนปรน หัวหน้างานฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาและงานบริการวิชาการของสาขาวิชาภาษาไทย (ศศ.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ.2563 สาขาวิชาได้นำนวัตกรรมจากงานบริการวิชาการในโครงการส่งเสริมความรักความสามัคคีฯ มาร่วมออกบูธในงานสานศิลป์ถิ่นมนุษย์ครั้งที่ 10 โดยมอบหมายให้นักศึกษาของสาขาวิชาภาษาไทยชั้นปีที่ 3 เป็นผู้นำเสนอนิทรรศการและสาธิตการสานผ้าห่อคัมภีร์ใบลานซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการให้บริการวิชาการของสาขาวิชาที่ได้จัดขึ้น ณ วัดบ้านกิ่วหลวง ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ระหว่างวันที่ 2-7 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา เพราะมีความสอดคล้องกับแนวคิดในการจัดงานสานศิลป์ฯปีนี้คือ “สานศิลป์ สานศาสตร์ สานการเรียนรู้สู่ท้องถิ่น” เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีการออกร้านขายอาหารโดยนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยชั้นปีที่ 2 ร่วมด้วย และแม้จะเป็นการออกงานร่วมกันของสาขาวิชาต่าง ๆ ในคณะมนุษย์ฯ แต่บรรยากาศภายในบูธสาขาวิชาภาษาไทยก็ไม่เงียบเหงา ดังเห็นได้จากมีผู้สนใจเข้ามาสอบถามและร่วมศึกษาวิธีการสานผ้าห่อคัมภีร์ใบลานอยู่เป็นระยะๆ โดยในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และรศ.วิไลลักษณ์ พรมเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการและการสาธิตของนักศึกษาอีกด้วยสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของสาขาวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียน และบุคคลภายนอกที่มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบอีกด้วย โดยนายศิริพงศ์ เปี้ยยา หัวหน้านักศึกษาชั้นปปีที่ 3 ได้กล่าวถึงสาขาวิชาว่า “สาขาวิชาภาษาไทย เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาศึกษา 4 ปี มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ สมัยใหม่มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เน้นพัฒนาทักษะทางภาษาของผู้เรียนแบบรายบุคคล ในหลักสูตรจะมี การแบ่งแขนงวิชาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การใช้ภาษา-ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม และคติชนวิทยา ตลอดการศึกษานักศึกษาจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง นอกจากนี้เมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรไปแล้ว นักศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย เช่น นักประชาสัมพันธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ผู้สื่อข่าว นักพูด พิธีกร และผู้จัดการวิทยุโทรทัศน์ ข้าราชการครู นักวิชาการ นักวิจัยทางภาษาไทยและวัฒนธรรม พนักงานต้อนรับ มัคคุเทศน์ นักแปล ผู้นำเที่ยว นักภาษาศาสตร์ พนักงานข้าราชการในหน่วยงานรัฐ นักเขียน หรืองานตามความถนัดและความสนใจของนักศึกษาที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการทำงานในอนาคต”
รายงานข่าว : นางสาวจิรัชญา กันธะวงศ์
ถ่ายภาพ : อ.ตุลาภรณ์ แสนปรน, อ.กิ่งแก้ว ทิศตึง และนางสาวจิรัชญา กันธะวงศ์
บรรณาธิการ : สืบชล พึงมณี