คัมภีร์ใบลาน ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บรรพชนไทยสร้างสรรค์ขึ้น เป็นเอกสารโบราณที่จารด้วยเหล็กแหลมลงบนใบของต้นลาน เชื่อกันว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คัมภีร์ใบลานใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ด้านพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์สังคม เช่นเดียวกับศิลาจารึกและสมุดไทย ส่วนมากจะถูกเก็บรักษาไว้ที่วัด บางแห่งยังคงใช้คัมภีร์ใบลานเหล่านี้เทศน์สั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาในวันอุโบสถ วันสำคัญทางศาสนาหรือในพิธีกรรมงานศพสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
อักษรธรรมล้านนา หรือ “ตัวเมือง” ใช้ในการจารึกลงบนศิลา หรือจารลงในคัมภีร์ใบลานที่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนต่าง ๆ อีกทั้งยังใช้ในการเขียนตำรายา ตำราโหราศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม ตลอดจนบันทึกวรรณกรรม คำโคลง และบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ อักษรชนิดนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือของประเทศไทย หรือดินแดนล้านนาซึ่งครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
คัมภีร์ใบลานที่มีตามวัดต่าง ๆ มีจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้มีการปริวรรตเอาไว้ ถึงมีก็มีน้อยมาก อีกทั้งยังประสบปัญหาในด้านการเก็บข้อมูลคัมภีร์ ซึ่งมีการชํารุดเสียหาย ยังไม่สามารถทำการถ่ายไมโครฟิล์มได้อย่างชัดเจน ทำให้ขาดเอกสารข้อมูลชั้นต้นที่มีความสมบูรณ์ นอกจากนี้ เอกสารโบราณมีการสูญหายและไม่ได้จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ คัมภีร์ใบลาน ถือเป็นหลักฐานทางวิชาการชั้นต้นที่มีความสำคัญทางวิชาการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการบันทึกเรื่องราวทางด้านตํารายา พงศาวดาร วรรณกรรม พุทธศาสนา คาถา และอื่นๆ เอกสารเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต วิถีชุมชน ความศรัทธา ความเชื่อของคนในท้องถิ่น ซึ่งเอกสารดังกล่าวข้างต้น ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลมากเท่าที่ควร การสืบทอดการอ่านตัวอักษรโบราณมีน้อยลงและใกล้สูญหาย อีกทั้ง วัดบางวัดไม่เห็นความสำคัญของคัมภีร์โบราณ และไม่มีความรู้เรื่องเอกสารโบราณจึงไม่มีการอนุรักษ์ ส่วนใบลานที่มีบุคคลเป็นเจ้าของครอบครองก็มักจะถูกทอดทิ้งจากลูกหลานรุ่นต่อมา เมื่อผู้ใหญ่ในครอบครัวเสียชีวิตลงใบลานที่ได้รับมาไม่มีผู้ใดศึกษา เนื่องจากอ่านไม่ได้ บางส่วนนำไปบรรจุในเจดีย์ บางส่วนนำเอาไปขายเป็นของเก่า เพราะไม่เห็นคุณค่าและไม่มีผู้ใดเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับเอกสารคัมภีร์โบราณ ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะบรรดาความรู้ ความคิดต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสารเหล่านี้ จะไม่ได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เอกสารโบราณดำรงอยู่และให้คุณค่าของคัมภีร์โบราณได้อนุรักษ์ไว้ในประเทศไทย ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ชุมชน มีความเข้าใจในคัมภีร์โบราณและได้มีข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์และเห็นความสำคัญคัมภีร์โบราณ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มีโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน ด้านการสำรวจ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปริวรรตคัมภีร์ใบลานเพื่อการศึกษาเรียนรู้ โดยบูรณาการเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอน และนำผลการบริการวิชาการแก่สังคมไปต่อยอดเข้ากับงานวิจัยด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักศึกษา พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน อีกทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลานเพื่อจัดระบบการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ เช่น ชุมชน วัด หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน คนในแวดวงวิชาการ ปลูกฝังให้คนในชุมชนรู้สึกรักแหละหวงแหน ตระหนักถึงคุณค่าในการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในชุมชนของตนเองเพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนสืบไป
อนึ่ง โครงการบริการวิชาการฯ ของสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ทำการเผยแพร่คัมภีร์ใบลานในรูปแบบฐานข้อมูลในเว็บไซต์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งการจัดทำฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลาน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ การได้รับการจัดเก็บในสภาพที่เหมาะสม เพื่อรักษาไว้เป็นมรดกให้กับชุมชนต่อไป อีกทั้ง ยังสามารถนำข้อมูลและเรื่องราวต่าง ๆ ที่บันทึกลงนใบลานมาศึกษาและเผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือและสื่อออนไลน์ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกต่อพระภิกษุ สามเณร นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
ฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลานที่สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้จัดทำในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. ฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลานวัดสันฐาน ตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) ผู้จัดการระบบ เป็นช่องสำหรับบันทึกข้อมูลต่าง ๆ 2) ผู้ใช้งาน สามารถสืบค้นด้วยคำค้นต่าง ๆ คือ ชื่อเรื่อง หมวด และปี ตลอดจน การสืบค้นอย่างละเอียด ประกอบด้วย วันที่สำรวจ ชื่อเรื่อง จำนวนผูก ปีที่สร้าง (พ.ศ., จ.ศ.) และหมายเหตุ
2. ฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลานวัดนากว้าว ตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) ผู้จัดการระบบ เป็นช่องสำหรับบันทึกข้อมูลต่าง ๆ 2) ผู้ใช้งาน สามารถสืบค้นด้วยคำค้นต่าง ๆ คือ ชื่อเรื่อง หมวด และปี ตลอดจน การสืบค้นอย่างละเอียด ประกอบด้วย วันที่สำรวจ ชื่อเรื่อง จำนวนผูก ปีที่สร้าง (พ.ศ., จ.ศ.) และหมายเหตุ
3. ฐานข้อมูลงานปริวรรตคัมภีร์ใบลานล้านนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) ผู้จัดการระบบ เป็นช่องสำหรับบันทึกข้อมูลต่าง ๆ 2) ผู้ใช้งาน สามารถสืบค้นด้วยคำค้นต่าง ๆ คือ ชื่อเรื่อง ผู้ปริวรรต และแหล่งที่มา ตลอดจนการสืบค้นอย่างละเอียด ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ผู้ปริวรรต แหล่งที่มา ไฟล์ และหมายเหตุ
โดยสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ http://hugiswh.lpru.ac.th/th/ -> ฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรม
นอกจากนี้ ชุมชน บุคคล หรือหน่วยงานใดที่ต้องการรับบริการวิชาการแก่ชุมชนด้านการสำรวจ อนุรักษ์ คัมภีร์ใบลานในท้องถิ่นของท่านเอง เช่นการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล การปริวรรตคัมภีร์ใบลานในท้องถิ่นของตนเอง หรือการขอเข้ารับการอบรมเชิงวิชาการเพื่อศึกษาวิธีการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ตลอดจนการปริวรรตข้อมูลจากคัมภีร์ใบลาน สามารถติดต่อได้ที่ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หมายเลข โทรศัพท์ 093-1326587 อ. ดร. ตุลาภรณ์ แสนปรน ประธานสาขาวิชาภาษาไทย