Faculty of Humanities and Social Sciences, Lampang Rajabhat University, Lampang 52100, Thailand.



ผลงานเด่น

"การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถม้าลำปาง ศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง"

  • ผู้เขียน : นันทิยา สมสรวย
  • วันที่เผยแพร่ : 29 กันยายน 2567
  • เปิดอ่าน : 99 ครั้ง


          การนำรถม้า สัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางที่มีความผูกพันกับผู้คนในจังหวัดมายาวนาน มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านโครงสร้างของยานพาหนะ และเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนกับม้าที่ทำงานร่วมกัน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ในท้องถิ่นเกี่ยวกับรถม้าลำปาง “บ้านม้าท่าน้ำ” ที่เผยแพร่องค์ความรู้เรื่องรถม้าให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ลักษณะของรถม้าและตัวม้า การฝึกม้า การประกอบตัวถังรถม้า การท่องเที่ยวตามเส้นทางรถม้า การตีเกือกม้า การดูแลรักษารถม้า และการเลี้ยงม้าซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของสารถีรถม้า รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรถม้า เป็นงานฝีมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้วัสดุจากท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์มีความเชื่อมโยงเรื่องราวของ “ม้า , รถม้า , จังหวัดลำปาง” ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และการออกแบบที่เป็นทั้งของที่ระลึก และกิจกรรม workshop โดยทีมงานและเจ้าของพื้นที่การเรียนรู้ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทิยา สมสรวย สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัณณธร สมสรวย สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์และออกแบบดิจิทัล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และว่าที่ร้อยเอกสุพจน์ ใจรวมกูล ศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทิยา สมสรวย
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัณณธร สมสรวย
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ



ว่าที่ร้อยเอกสุพจน์ ใจรวมกูล
ศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ


          สำหรับแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ที่นำมาใช้เชื่อมโยงกับรถม้า และศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ ได้ผ่านกระบวนการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจ การบันทึกภาพ และการสังเกตการณ์ เพื่อเก็บข้อมูลด้านกายภาพของพื้นที่ การสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นตามเส้นทางรถม้าเพื่อการท่องเที่ยว และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สารถีรถม้า ตัวแทนชุมชน โดยเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของรถม้าลำปาง ซึ่งมีจุดเด่นที่เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ยังคงมีรถม้ารูปแบบเดิมจากประเทศอังกฤษใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถม้าเพื่อการท่องเที่ยวในเขตเทศบาลนครลำปาง ที่วิ่งบริการนักท่องเที่ยวชมวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดออกมาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ” เพื่อเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักวิถีชีวิตของคนเลี้ยงม้าและอาชีพสารถีรถม้า โดยใช้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำที่มีความเป็นธรรมชาติ ความเป็นส่วนตัว ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ มีความเหมาะสมในการใช้เป็นกิจกรรมเลี้ยงม้าของนักท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลาย และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรถม้า เช่น ม้าไม้แกะสลักที่วาดลวดลายประยุกต์ของจังหวัดลำปาง การสานตาข่ายบนเกือกม้าในรูปแบบ“ตาข่ายดักฝัน” ที่ผ่านการตีเกือกม้าแบบโบราณด้วยมือ ผลิตภัณฑ์จากเกือกม้า พวงกุญแจ ม้าปั้นจากดินลำปาง ฯลฯ โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจดังนี้
          1. การนั่งรถม้าชมเมือง ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวลำปาง สถาปัตยกรรมโบราณ บ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิม รวมถึงกิจกรรมในชุมชนที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมทั้งการนั่งรถม้าไปวัด การเลือกซื้ออาหารท้องถิ่น ฯลฯ
          2. กิจกรรมขี่ม้าเลาะริมแม่น้ำ การอาบน้ำม้าและให้อาหารม้า เป็นกิจกรรมที่แทรกความรู้ของรถม้าลำปางจากโครงสร้างรถม้า การดูแลรักษา ทำความสะอาดรถม้า หลังจากนั้นนำม้าออกจากคอกเพื่อเตรียมอาบน้ำ โดยมีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ การให้ความรู้พื้นฐานในการดูม้า การเตรียมอาหารร่วมกับเจ้าของม้า การทดลองจูงม้าหรือขี่ม้าเดินเล่นบริเวณรอบๆ ไปจนถึงการขี่ม้าเดินเลาะริมแม่น้ำ
          3. การสาธิตการตีเกือกม้าและลง Workshop ร่วมกัน การตีเกือกม้าแบบโบราณด้วยมือ จากช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง รวมถึงการทำ workshop ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น


บริเวณด้านหน้าศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ




กิจกรรม “การอาบน้ำม้า”




นั่งรถม้าเที่ยวย่านเมืองเก่า




สาธิตการตีเกือกม้าจากช่างตีเกือกม้าคนสุดท้ายของลำปาง




ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและกิจกรรม workshop: พวงกุญแจ 12 ราศี




ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและกิจกรรม workshop: ตาข่ายดักฝันจากเกือกม้า




ตัวอย่างกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “ฟ้อนดาบ”



          จากกิจกรรมท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ ด้วยจุดเด่นในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ม้า , รถม้า , ลำปาง” ที่สามารถนำไปประยุกต์กับการท่องเที่ยว และการพัฒนาสินค้าส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนได้ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านการใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ และเชิงพาณิชย์จากชุมชนเจ้าของพื้นที่ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับชุมชนหรือท้องถิ่นอื่น ผ่านกระบวนการถ่ายทอดดังนี้ 1) ความรู้ที่จะถ่ายทอด ได้แก่ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรถม้าลำปาง (ม้า , รถม้า , ลำปาง) และแนวทางการพัฒนาสินค้าส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับม้า , รถม้า , ลำปาง โดยเน้นการใช้วัสดุ-อุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น 2) วิธีการที่ใช้ในการถ่ายทอด ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม และกิจกรรม Workshop 3) ผลกระทบที่ได้รับ ได้แก่ รูปแบบการท่องเที่ยวโดยรถม้าที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมผ่านการเรียนรู้ และการปฏิบัติกิจกรรม 4) กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้บ้านม้าท่าน้ำ , ชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยวโดยรถม้า , ชุมชนที่ผลิตสินค้าส่งเสริมการท่องเที่ยว , นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน , ประเทศแคนาดา , สาธารณรัฐทูร์เคีย (ตุรกี) , ประเทศสหรัฐอเมริกา , สาธารณรัฐเกาหลี , ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์

หน่วยงานเครือข่าย

หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย

หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย
หน่วยงานเครือข่าย