คัมภีร์ใบลาน เป็นเอกสารตัวเขียนที่ใช้บันทึกเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ตลอดจนความเชื่อ ประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ต่างๆ คัมภีร์ใบลานเป็นเอกสารตัวเขียนมีความทนทาน สะดวกในการเก็บรักษา และง่ายต่อการบันทึก ข้อความหรือเนื้อหาที่จารลงในใบลานมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมอันเป็นสิ่งสูงสูดในพระพุทธศาสนา จึงทำให้คัมภีร์ใบลานมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์ใบลานถือเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่บรรพชนคนไทยได้สร้างสรรค์ขึ้นและเป็นหลักฐานชั้นต้นที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ในอดีต วัดแสงเมืองมา ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นวัดราษฎร์ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ในบริเวณเมืองเก่าเขลางค์นคร สันนิษฐานว่าอาจสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2200 ภายในมีจิตรกรรมที่เขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งน่าจะเขียนขึ้นพร้อมกับการบูรณะครั้งนั้น วัดแสงเมืองมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2523 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 ปัจจุบัน มี พระครูอรุณปุญญาคม เป็นเจ้าอาวาส
กิจกรรมการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม “ภาคสนามกับการสำรวจและอนุรักษ์เอกสารตัวเขียน” ณ วัดแสงเมืองมา ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย ตามแผนปฏิบัติงานของสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง บูรณาการเรียนการสอนกับงานวิจัยโครงการวิจัยการสำรวจและสำเนาข้อมูลเอกสารตัวเขียน 4 ภูมิภาคในฐานะมรดกความทรงจำของชาติและหลักฐานการรู้หนังสือของบรรพชนไทย ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2566
เอกสารตัวเขียนที่พบในวัดแสงเมืองมา คือ คัมภีร์ใบลานและพับสา จัดเก็บไว้ในวิหารของวัด พบหีบธรรม จำนวน 2 ใบ มีคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ทั้งที่เป็นใบลานจริง และใบลานกระดาษ ปะปนกันไป เมื่อได้ดำเนินการสำรวจและทำทะเบียนแล้วพบว่ามีจำนวนใบลานทั้งสิ้น 411 ผูก แบ่งเป็นพับสา จำนวน 3 เล่ม ใบลาน จำนวน 408 ผูก อีกทั้งยังมีคัมภีร์ใบลานอีกจำนวนหนึ่งที่ชำรุดเสียหายมาก ไม่สามารถดำเนินการสำรวจได้ แต่พบร่องรอยของการสำรวจและห่อด้วยผ้าแล้วบางส่วน เมื่อคณะทำงานได้จัดทำหนังสือขออนุญาตและข้อมูลเบื้องต้นของโครงการฯ แก่เจ้าอาวาสวัดแล้ว ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ด้วยความยินดี ให้คณะทำงานได้ดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ และมีชุมชนศรีล้อม-แสงเมืองมา นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เข้าร่วมการสำรวจ อนุรักษ์ คัมภีร์ใบลานในครั้งนี้ด้วย คณะทำงานในโครงการนี้ ได้เริ่มดำเนินงานการรวบรวม ทำความสะอาด และทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน ร่วมกับชุมชนศรล้อม-แสงเมืองมา พบเอกสารตัวเขียนทั้งสิ้น 411 ผูก พร้อมทั้งคัดเลือกคัมภีร์ใบลาน จำนวน 60 ผูก มาถ่ายภาพดิจิทัล