ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักจากชุมชนบ้านหลุก อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีหลากหลายรูปแบบทั้งงานไม้ที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และงานไม้ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกทางการท่องเที่ยว มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยทีมวิจัยได้นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการใช้เทคนิคชุบสี (Marbling Art) และแนวโน้มการพัฒนาเป็นวัสดุทางเลือกที่มีการใช้งานหลากหลายร่วมกับผู้ประกอบการ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทิยา สมสรวย จากสาขาศิลปะและการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัณณธร สมสรวย จากสาขาออกแบบนิเทศศิลป์และออกแบบดิจิทัล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนางสาวนิตยา แก้วเตียม ผู้ประกอบการจาก “หลุกคราฟท์แบรนด์” อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
ซึ่งการใช้เทคนิคชุบสีกับงานประเภทไม้แกะสลัก สามารถพัฒนาไปสู่การชุบสีกับผลิตภัณฑ์ไม้รูปแบบอื่นๆ ส่วนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเรียกความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และยังคงสามารถรักษากลุ่มผู้บริโภครายเดิมให้อยู่ต่อไป ผ่านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาต่อยอดจากงานรูปแบบเดิมและมีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยเทคนิค Marbling Art ที่ถูกพัฒนามาจากประเทศตุรกี ส่วนการประยุกต์ลงบนผลิตภัณฑ์ ได้นำผลิตภัณฑ์ที่มีในชุมชนรูปแบบอื่นมาทดลองชุบสีด้วยเช่น แผ่นไม้ หัวช้างแกะสลัก กล่องไม้ และสัตว์แกะสลัก พบว่าเทคนิคชุบสีทำให้เกิดลวดลายแปลกใหม่ สีสันสวยงาม โดยกำหนดรูปแบบงานตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายได้ สามารถขยายช่องทางการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกได้มากยิ่งขึ้น และจากการใช้เทคนิคการชุบสีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่โดยยังคงโครงสร้าง วิธีการผลิต วัสดุหลักที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องมาเริ่มกระบวนการใหม่ เพียงแต่ประยุกต์ใช้เทคนิคให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์
นอกจากเทคนิคชุบสีบนผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ทางทีมวิจัยยังได้เริ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (case) สำหรับอุปกรณ์วัดเสียงปอด เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและคัดกรองโรคปอด โดยประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่นประเภทงานไม้เพื่องานอุปกรณ์การแพทย์ ภายใต้แนวคิดนวัตกรรมในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมกับการใช้วัสดุทางเลือกจากธรรมชาติ (ไม้ที่มีในประเทศไทย) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ซึ่งผลงานได้รับการรับรองสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ โดยเทคนิคชุบสีได้รับการรับรองจากประเทศญี่ปุ่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ ประเภทงานตกแต่งภายใน และบรรจุภัณฑ์สำหรับอุปกรณ์วัดเสียงปอดได้รับการรับรองจากประเทศมาเลเซียในกลุ่มการศึกษา ประเภทนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้