“รถม้า” สัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง และเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีรถม้าวิ่งบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีเส้นทางรถม้าที่เน้นนำเสนอวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และมีการอนุรักษ์รถม้าในรูปแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นรถม้าจำลอง โดยการย่อส่วนจากรถม้าของจริง แต่ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างและรายละเอียดของรถม้าที่สมบูรณ์ เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากท้องถิ่นที่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ ประกอบด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทิยา สมสรวย จากสาขาศิลปะและการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัณณธร สมสรวย จากสาขาออกแบบนิเทศศิลป์และออกแบบดิจิทัล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และนายมนิด ดอนคำ ผู้ประกอบการรถม้าจำลองบ้านนาก่วมเหนือ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
และทางทีมวิจัยมีแนวคิดในการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับรูปแบบการใช้งานเชิงสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาทางด้านสุขภาพของประชากรเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เช่น การทำงานหนัก ความวิตกกังวล การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟูดที่มีองค์ประกอบของไขมันและแป้ง การออกกำลังกายที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆของประชากรมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น หากเรามีอุปกรณ์ติดตามเพื่อใช้ส่วนตัวที่บ้าน สามารถใช้ประเมินสุขภาพเบื้องต้นตั้งแต่แรก จะช่วยให้ได้รับความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการติดตั้งระบบดูแลสุขภาพหัวใจส่วนบุคคล (Personel Heart Healthcare System) เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
การติดตั้งระบบดูแลสุขภาพหัวใจส่วนบุคคลบนรถม้าจำลอง ได้พัฒนาส่วนวัดสัญญาณ (Acquisition front-end) ส่วนประมวลผลสัญญาณดิจิตอล (Digital signal processing) ฟังก์ชั่นการเก็บข้อมูล และส่วนโมดูลเชื่อมต่อข้อมูลกับฐานข้อมูลออนไลน์ (Database interfacing) การสร้างซอฟท์แวร์ที่ใช้เชื่อมต่อข้อมูลทางการแพทย์ผ่านระบบไร้สายด้วยระบบอินเตอร์เนตความเร็วสูง และส่งต่อข้อมูลเพื่อไปเก็บบนฐานข้อมูลออนไลน์แบบเวลาจริง ในแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนระบบ Android โดย “รถม้าจำลองวัดสุขภาพหัวใจ” ได้ผ่านการทดสอบในห้องปฎิบัติการด้วยเครื่องมือสอบเทียบที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ ได้รับการรับรองสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ และเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีรูปแบบการใช้งานเชิงสุขภาพอื่นๆ และทางชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดทางธุรกิจ การสร้างรายได้ การขยายกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบดูแลสุขภาพหัวใจส่วนบุคคลบนผลิตภัณฑ์ต่อไป